assassin’s creed valhalla ตำนานนักฆ่าบทใหม่ของ เลย์ลา นักประวัติศาสตร์สาวผู้ตามหาความลับของพลังจากโบราณกาลของ ไอซุ ชนเผ่าอารยธรรมแรกเริ่มผ่านเครื่องแอนิมัสที่เอาดีเอ็นเอจากวีรชนเก่าก่อนมาย้อนความทรงจำได้ โดยเธอเริ่มจากการย้อนดูความทรงจำของ บาเยก และ เอยา ในสมัยอียิปต์โบราณ ก่อนจะพบจุดกำเนิดขององค์กรนักฆ่าในนาม ฮิดเดนวันส์ ในภาค Origins
ซึ่งต่อมาในภาคล่าสุดอย่าง Odyssey ที่บุกไปในอดีตช่วงสงครามเอเธนส์กับสปาร์ตา เธอก็ยังได้ถูกสติปัญญาโบราณทำนายไว้ว่าจะเป็นผู้คืนสมดุลแก่ภราดรภาพนักฆ่ากับเหล่าอัศวินเทมพลาร์ ซึ่งหากไม่สำเร็จโลกก็จะถึงกาลอวสาน เป็นเหตุให้เลย์ลาต้องออกตามหาอาร์ติแฟกโบราณและหนีการตามล่าจากนายจ้างเก่าของเธออย่างบริษัทแอบสเตอร์โก หรือคือเหล่าเทมพลาร์ในปัจจุบัน โดยมีพ่อของ เดสมอนด์ ตัวเอกในภาคเก่าก่อนที่เป็นหัวหน้าภราดรภาพนักฆ่าในปัจจุบันคอยช่วยเหลือแบบพันธมิตรกัน
ซึ่งใน Valhalla อันเป็นภาคที่ 3 นี้ ถ้านับแบบหนังก็ต้องบอกว่ามันต้องเป็นบทสรุปที่สำคัญที่ตอบความคาดหวังที่แฟน ๆ รอคอยมาตลอดว่าเรื่องราวของเลย์ลาจะมาถึงจุดที่สมบูรณ์เสียที
ซึ่งจะสังเกตว่าทีมพัฒนาชุดไตรภาคใหม่นี้ เลือกสรรธีมของเรื่องมาได้อย่างน่าสนใจ จากอารยธรรมโบราณในอียิปต์ มาช่วงเวลาใกล้เคียงในกรีก และข้ามมาอารยธรรมแองโกล-แซกซอนในอังกฤษ ที่รบราฆ่าฟันกับเผ่าไวกิ้งจากนอร์เวย์อยู่เป็นนิจ และด้วยความที่เป็นวัฒนธรรมแบบไวกิ้งที่ดิบเถื่อน เราก็ควรคาดหวังได้ว่า มันควรจะได้รสที่แตกต่างจาก 2 ภาคเก่าบ้าง เพราะว่ากันตามจริง Origins กับ Odyssey ก็แทบจะเป็นเกมเดียวกันที่ปรับธีม เพิ่มระบบนิดหน่อยเท่านั้นเอง
Story Telling assassin’s creed valhalla
assassin’s creed valhalla การเล่าเรื่องอาจเป็นจุดที่น่าสนใจไม่แพ้เกมเพลย์เลยก็ได้ ไม่น่าเชื่อว่า Ubisoft จะพิถีพิถันการสร้างเรื่องราวได้น่าสนใจควบคู่กันไปในหลาย ๆ เส้นเรื่อง ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วก็เป็นงานยากสำหรับเกมแนวสำรวจโลกเปิดกว้างที่ผู้เล่นจะทำอะไรก่อนก็ได้ ซึ่งว่ากันแล้วส่วนใหญ่ก็มักมาด้วยเนื้อหาเส้นเรื่องหลักที่กลาง ๆ ตามสูตร ให้ปิดรูโหว่ง่าย ต่อด้วยเนื้อเรื่องรอง/ย่อยที่เห็นความพยายามฝืนยัดใส่เข้ามาจำนวนมาก แบบยิ่งเน้นปริมาณแต่ไร้คุณภาพ ไปตามขนาดพื้นที่ที่กว้างขึ้น แต่สุดท้ายก็เป็นเพียงอุปสรรคของนักเล่นเกมที่ยังน่าเบื่ออยู่ดี ทำให้งานนี้จำเป็นต้องเลือกดึงตัว ดาร์บี้ แมกเดวิตต์ หัวหน้าทีมเขียนบทที่เคยสร้างชื่อจาก Assassin’s Creed: Revelations และ Assassin’s Creed IV: Black Flag จนได้รับเสนอชื่อชิงรางวัล Writers Guild of America Award หรือเวทีออสการ์ของเหล่านักเขียนบทอเมริกันเลยทีเดียว และก็ถือว่าเขาทำได้ดีทีเดียว การกระตุ้นความอยากรู้ผู้เล่น เริ่มกันตั้งแต่ในโลกปัจจุบันของเลย์ลาเลยทีเดียว โดยเปิดเรื่องมาก็ทิ้งปริศนาก้อนใหญ่ว่าเธอกำลังศึกษาหลุมศพชาวนอร์สโบราณ ที่ดันถูกฝังอยู่บนแผ่นดินอเมริกาอย่างผิดแผกจากความรู้ในประวัติศาสตร์ทั่วไป
ซึ่งจากการดำดิ่งในความทรงจำของซากศพนักรบนอร์สนี้โดยใช้เครื่องแอนิมัสเจ้าเก่า เธอก็ได้รู้ว่าศพนี้มีนามว่า เอวอร์ ซึ่งความคิดมาละเอียดในเนื้อเรื่องว่าดีเอ็นเอของศพเก่าจนรายละเอียดเลือนรางไม่อาจระบุเพศได้ ก็ทำให้เราสามารถเลือกเพศของตัวละครได้ตามใจ แถมยังให้เครื่องแอนิมัสเลือกเพศสับไปมาตามควยามเหมาะสมในเนื้อเรื่องได้อีก นับว่าประทับใจในการคิดมุกสร้างเรื่องราวตั้งแต่เปิดเกมเลยทีเดียว
สำหรับเนื้อหาหลักที่เป็นเส้นเรื่องของอีวอร์นั้น เปิดเรื่องมาอย่างฮึกเหิมดีเหมือนกัน เมื่อเอวอร์ในวัยเด็กต้องเห็นพ่อของเขายอมสละชีวิตเพื่อปกป้องคนในเผ่าต่อหน้า (แต่ในมุมนักรบนอร์สการยอมแพ้โดยไม่สู้คือความน่าอับอาย และยังเป็นปมที่อีวอร์ต้องเผชิญตลอดในทุกเรื่องหลักเรื่องย่อยเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นนักรบที่ขัดแย้งมโนธรรมอื่น ๆ) ขณะที่ตัวเอวอร์ก็ได้รับการช่วยเหลือจากซิเกิร์ดลูกชายของราชา ผู้เป็นดั่งพี่ชายร่วมสาบานของเอวอร์ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เอวอร์ติดสอยห้อยตามซิเกิร์ดไปทุกหนแห่งในเวลาต่อมา
เอวอร์และซิเกิร์ดวัยเด็ก ก่อนเหตุร้ายจะเกิดแบบฉับพลัน
เนื้อเรื่องช่วงอินโทร เพื่อแนะนำระบบการเล่นต่าง ๆ นั้นต้องยอมรับว่า ค่อนข้างรู้สึกไวและไม่อินเอามาก ๆ เพราะหลังจากเหตุการณ์คืนแห่งการสูญเสียในวัยเด็ก ภาพก็ตัดขวับมาตอนโตทันทีทำให้เราไม่ค่อยเข้าใจเห็นใจเอวอร์มากพอ เนื่องจากขาดการรับรู้ความยากลำบากในการโตมาแบบไร้พ่อขาดแม่ แต่แม้เรื่องราวจะจืด ๆ เสียหน่อยเพราะเป็นการเล่าเรื่องการล่าล้างแค้นแทนพ่อของเอวอร์ ซึ่งเราคงคุ้น ๆ เกร่อ ๆ มาเยอะแล้ว แต่มันก็ทดแทนได้พอดีกับความตื่นตาตื่นใจกับความแปลกหลาย ๆ อย่างในเกมเพลย์ที่ค่อนข้างต่างจาก 2 ภาคที่ผ่านมา ในแง่ที่ว่ามันขาดสิ่งที่เคยมีนู่นนี่นั่นเต็มไปหมด เช่น ลอบฆ่าไม่ได้ นกอินทรีที่ไร้ประโยชน์ เป็นต้น
กระนั้นเมื่อเรื่องราวเริ่มเข้าสู่ดินแดนเกาะอังกฤษนั่นล่ะ ที่ระบบต่าง ๆ เริ่มเติมเต็มลงตัวมากขึ้นแล้ว เนื้อเรื่องก็กลับมาทำงานเน้น ๆ ของตัวเองต่อได้ ด้วยตรรกะและฐานการสร้างเรื่องที่ดีและง่าย คือเผ่าราเวนของพวกเอวอร์และซิเกิร์ดจะทำการตั้งหลักปักฐาน สิ่งที่ต้องทำคือทำให้ฐานมั่นคงจากการสร้างงานสร้างอาชีพต่าง ๆ และภารกิจอื่นนอกฐานที่จำเป็นมาก ๆ คือการสร้างพันธมิตรรอบด้าน เพื่อให้เผ่าอื่น ตลอดจนอาณาจักรอื่นยอมรับในการคงอยู่ของเผ่าราเวน
ซึ่งตรงนี้ก็เปิดช่องให้ภารกิจเนื้อเรื่องรองในแต่ละดินแดนมีความสร้างสรรค์ได้มาก แถมยังเป็นเนื้อหาแบบยาว ๆ ที่คิดมาถี่ถ้วนทั้งความหลากหลายของรูปแบบเนื้อเรื่องที่แตกต่างกันหมด และตอบโจทย์ด้านการให้อารมณ์กับสติปัญญากับผู้เล่นผ่านการให้ตอบตัวเลือกสำคัญหลาย ๆ ครั้ง
ยอมรับเลยว่าดูทรงดีมาก ๆ ไม่มีภารกิจที่ง่อยเปลี้ยน่าเบื่อที่จะทำเลยสักนิด เพราะอย่างสำคัญสุดคือ ในขณะที่เราคุ้นชินกับเกมที่แผนที่กว้างจนมีภารกิจนอกลู่นอกทางมากที่ไม่สัมพันธ์อะไรกับเรื่องนัก หรือจะเป็นภารกิจคุณภาพต่ำจำนวนมากถมให้เต็มพื้นที่แผนที่เองก็ตาม แต่ภารกิจรองใน Valhalla นั้นเราล้วนยังรู้สึกเชื่อมโยงกับเป้าหมายเส้นเรื่องใหญ่ที่ต้องสร้างเผ่าและหาพันธมิตรนั่นเอง ทำให้โฟกัสกับเนื้อเรื่องได้เสมอ
ในขณะที่ภารกิจย่อยรายทางก็ยังคลุมธีมข้อถกเถียงด้านมโนธรรมระหว่างนักรบกับความยุติธรรมได้อยู่ดี มีบ้างที่ผสมพึ่งพาความกาวความตลกมาให้ขำขันแต่ก็ยังพอรับไหว ไม่ทำให้เรื่องรวมหลุดกรอบไปเป็นอีกจักรวาลเกินไป ซึ่งภารกิจย่อยเหล่านี้ก็ค่อย ๆ ทำให้ตัวละครเราได้พัฒนาขึ้นจากเด็กหนุ่มที่มีแต่แรงแค้นผลักดัน จำเป็นต้องโตขึ้นมีวุฒิภาวะขึ้น และพบคำถามวัดใจที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนที่ยังทะเม่ง ๆ กับการเล่าเรื่องนี้ก็ยังมีบ้างในความเสถียรของคาแรกเตอร์ตัวเอกของเรา ที่เราอาจปั้นบุคลิกผ่านการเลือกตอบคำถามในเส้นเรื่องไว้แบบหนึ่ง เช่น เป็นคนที่สงบเสงี่ยม นักรบผู้ขรึมและไม่ตัดสินใคร แต่เมื่อเป็นคัตซีนหรือบทสนทนาที่ตัวเกมกำหนดไว้แล้ว บางครั้งมันก็ขัดกับคาแรกเตอร์ที่เราปั้นไว้เยอะจนผิดแปลกไปเลยก็มี เช่น คำพูดคำจากลายเป็นคนยโส โผงผางไปแทน ก็ทำให้รู้สึกแปลก ๆ ไม่อินกับตัวละครของเราได้เต็มกลืนนัก ยิ่งในเหตุการณ์จุดเปลี่ยนสำคัญ ๆ ของเนื้อเรื่องเราอาจรู้สึกว่า ไม่มีทางเลยที่ตัวละครเราจะแสดงออกมาแบบนี้ได้
อีกหนึ่งไฮไลต์กับการแรปแบตเทิล
ถ้าตัวเกมจะฉลาดในการเก็บคำถามเราแต่ละช่วงแล้วคุมบุคลิกตามที่เราตอบให้นิ่งกว่านี้ได้ก็จะดีมากทีเดียว อย่างไรก็ตามภาพรวม ตัวละครเอวอร์และเลย์ลาก็ยังเป็น 2 บุคลิกที่ีเราอยากทราบชะตากรรมต่อไปอยู่ดี ความน่าสนใจสุดท้ายนอกจากโลกปัจจุบันและโลกอดีตแล้ว คือการเชื่อมโยงตำนานเทพนอร์สปรัมปรามาผูกกับเส้นเรื่องมนุษย์ได้อย่างน่าสนใจ อย่างที่เราได้ยินข่าวยืนยันมาว่าเราจะสามารถไปแอสการ์ดได้นั้น ต้องเกริ่นเลยว่ามันมีความเฉียบบางอย่างในการเชื่อมจุดนี้ ซึ่งเราคงไม่อธิบายเพิ่มเติมเพราะจะติดสปอยล์เต็ม ๆ เอาเป็นว่าเขาไม่ได้คิดใส่มาเล่น ๆ กาว ๆ อย่างเด็ดขาด เป็นข้อสรุปว่า Valhalla เป็นเกมที่มีการเล่าเรื่องที่ดีมากแต่อาจไม่ว้าวสุด ๆ แต่ก็ยังน่าประหลาดใจไม่เบาในความพิถีพิถันในเนื้อเรื่องเล็ก-ใหญ่ขนาดนี้
Gameplay
อาจต้องพูดว่าเกมเพลย์เป็นส่วนที่รู้สึกทำให้การผจญภัยในอิงแลนด์นี้ ดูสนุกขึ้น มากไปกว่ารายละเอียดของฉากกับเซ็ตติ้งเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้เมื่อเป็นธีมไวกิ้งแล้วเกมก็ดึงเอกลักษณ์มาได้จัดเต็มด้วยความโหดชนิดฟันแขนขาด หัวกระเด็น กันเป็นปกติ และการสังหารที่เข้าคัดซีนพิเศษแบบแทงมีดทะลวงตับไตไส้พุงให้เห็นชัด ๆ อีก (ดีว่าภาพยังออกทางซีจีมากกว่าสมจริงไม่งั้นคงมีคลื่นไส้)
นอกไปจากนั้นระบบเกมยังจงใจให้เราเป็นนักรบมากกว่านักฆ่าในตอนเริ่ม ก่อนที่จะได้รับมีดเร้นกายและรู้จักกับคนจากภราดรนักฆ่าตามเนื้อเรื่อง เราจึงทำได้เพียงการบุกบู๊แบบบ้าคลั่ง ตอนนี้เองที่เกมทำให้เราได้เรียนรู้ระบบการต่อสู้ที่เน้นหนักไปที่การหาจังหวะเข้าทำมากกว่าลุยดุ่ม ๆ อย่างเดียว ยอมรับว่าในช่วงแรกรู้สึกควบคุมการเคลื่อนไหวตัวละครลำบากมาก มีความช้าอืด ๆ ตามแบบนักรบหนา ๆ จังหวะการหลบก็ต้องระวังเรื่องของเกจความเหนื่อยที่ถ้าหากพลังหมด จะหลบหรือฟันท่าหนัก ๆ ไม่ออกเลย ต้องคอยเดินหลบออกมาเพิ่มเกจนี้ก่อน
ในส่วนของการแพรี่ก็ดันให้กลายเป็นกลยุทธ์หลักที่พิชิตชัยได้ไวขึ้น เพราะเมื่อทำการแพรี่ได้จะทำให้ศัตรูสตันและเมื่อค่าในเกจสตันหมด ศัตรูก็จะทรุดเสียอาการเปิดช่วงให้เราเข้าใช้ท่าใหญ่ลดพลังชีวิตได้แบบฮวบฮาบ ว่ากันมาตรงนี้จะสังเกตได้ว่าค่าแรงก์หรือเลเวลตัวละครนั้นไม่ใช่สิ่งต้องคำนึงอย่างใน 2 ภาคก่อนหน้าอีกต่อไป เพราะถึงค่าพลังน้อยกว่ามากแต่ถ้าจังหวะแม่นก็ยังสามารถสู้ตัวละครเก่ง ๆ ได้สูสีอยู่ (แต่ก็ยังสร้างความต่างเรื่องพลังโจมตีอยู่ดี เราตีเท่ามดกัด มันตีเราทีเหมือนช้างกระทืบก็มี ทนไหวก็ทนไป)
ซึ่งในภาคนี้การลดความรุงรังของระบบการเล่น การเก็บค่าต่าง ๆ อัปเกรดตัวละครลง เหลือเพียงการอัปเกรดค่าพลังที่ยังเอาไปใช้เปิดขยายสกิลทรีเพื่อเพิ่มสแตตตลอดจนท่าใหม่ ๆ ด้วยนั้นทำให้เราโฟกัสไปที่เป้าหมายการเพิ่มค่าประสบการณ์รวมค่าพลังใหม่ ๆ ได้อย่างเดียวก็พอ แถมสกิลทรียังเปิดโอกาสในการเพิ่มลดเปลี่ยนสายระหว่างสายลอบฆ่า (อีกา) สายอาวุธไกล (หมาป่า) และสายอาวุธหนัก (หมี) ได้อย่างอิสระ (Odyssey ยังต้องเสียเงินเพื่อรีเซ็ตสกิลเลยนะ สัมผัสได้ว่าเกมไม่ค่อยหิวเงินผู้เล่นหนัก ๆ แล้ว)
ในหน้าออปชันเรายังปรับแต่งได้ว่าจะให้การลอบฆ่าเป็นวันฮิตคิลหรือไม่ ละเอียดดีจริง ๆ
ความรุงรังในระบบเครื่องแต่งกายและอาวุธก็ลดลงเยอะมาก เราไม่ต้องเสียดายวันเวลาในการอัปอาวุธใด ๆ แล้วถึงจุดหนึ่งก็ไปเจออาวุธระดับตำนานแล้วต้องมานั่งอัปใหม่ หรือต้องคอยเอาอาวุธระดับกาก ๆ ไปคอยขายหรือเก็บไว้เต็มคลังแบบขยะล้วนให้รำคาญตาด้วย เพราะตอนนี้เราเลือกชุดเครื่องแต่งกายและอาวุธใด ๆ แล้วอัปเกรดมันไปจนสุดขั้นได้เลย เรียกว่าเล่นตั้งแต่ต้นจนจบเกมด้วยชุดเดียวไม่มีปัญหา ทำให้เราโฟกัสแคบลงแค่การเก็บวัสดุมาเพื่ออัปเกรดอุปกรณ์ล้วน ๆ พอ
ข้อติงคือด้วยธีมมันขรึม ๆ ทึม ๆ เครื่องแต่งประเภทเน้นอลังสวยงามก็อาจจะเพลา ๆ ลงไป และมีให้เล่นสำหรับคนชอบแต่งตัวเป็นพวกแนว ลายแทตทู อะไรแบบนั้นเสียมากกว่า ซึ่งบางคนก็อาจคิดว่ามันน้อยไปหน่อยล่ะ เข้าใจได้
มาว่ากันที่การต่อสู้ต่อ ต้องบอกว่าแม้ระบบการต่อสู้จะค่อนข้างสนุก มีการเล่นท่าสลับอาวุธสองมือเพื่อเปลี่ยนท่าจู่โจมได้ (แต่ต้องเปิดอัปสกิลทรีนี้ก่อน) หรือคัตซีนเท่ ๆ ปิดฉากศัตรู แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบคือเสียงพากย์พวกตัวประกอบมันไม่ค่อยได้อารมณ์บู๊เลย ส่วนใหญ่ได้ยินเป็นเสียงออกผู้หญิงเสียด้วยซ้ำ ไม่รู้คนสร้างมีประเด็นอะไรมั้ย หรืออาจเป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตที่ผิดพลาดของผู้เขียนเองก็ได้ แค่ว่าพอฆ่าลูกกระจ๊อกทั้งหลายแล้วได้ยินเสียงร้องแหลม ก็พาลหมดอารมณ์ฮึกเหิมเอาง่าย ๆ เหมือนกัน
สั่งควบม้าไปตามทางที่กำหนด แล้วเปิดดูซีเนมาติกวิวได้ด้วย
ลดระบบแล้วช่วยผู้เล่นมีแล้ว มาดูลดเพื่อให้ผู้เล่นเล่นยากขึ้นบ้าง เช่นเจ้านกอินทรีคู่หูที่เป็นตาเทพมาตลอด 2 ภาคแรก เรียกว่าบินทีจับมาร์กศัตรูซุ่มซ่อน หรือสมบัติในซอกมุมไรได้หมด มาภาคนี้เรียกว่าเอาไว้ส่องมุมสูงเฉย ๆ จริง ๆ ในช่วงแรก จนความสามารถสแกนพื้นที่ที่เรียกว่า โอดินไซน์ ยังดูมีประโยชน์กว่า อีกอย่างคือค่าพลังชีวิตที่ภาคก่อน ๆ ทิ้งไว้ก็จะฟื้นฟูเอง แต่มาในภาคนี้เราต้องเก็บอาหารสมุนไพรทานถึงจะเพิ่มเลือดได้ แต่จุดนี้ก็ชอบนะ เพราะทำให้เกมดูสมดุลเราไม่เก่งเวอร์เกินไปด้วย ทั้งการสำรวจค้นหาสมบัติและแก้ปริศนาเส้นทาง รวมถึงการเสี่ยงไปทำภารกิจย่อยแล้วเจออะไรที่ยากเกินเบอร์แบบไม่คาดฝัน เกมดูสนุก เซอร์ไพรส์ และยังได้ท้าทายกว่าเดิมด้วย
พูดถึงการสำรวจโลกแล้ว ก็ต้องบอกว่าเราจะมองหาอยู่ 2 อย่างหลัก ๆ คือภารกิจเสริมที่เป็นสีฟ้า ๆ บนแผนที่ และจุดเหลือง ๆ ที่เป็นสมบัติ โดยสมบัตินี้ยังแยกย่อยเป็น วัสดุเอาไปอัปเกรดอุปกรณ์, เครื่องแต่งกายอาวุธชิ้นพิเศษ หรือเป็นหนังสือความรู้โบราณ ที่หากอ่านเราจะได้ความสามารถใหม่ ๆ ให้มาบริหารจัดการใส่เป็นปุ่มลัดได้อย่างละ 4 ท่า ฝั่งอาวุธระยะประชิด 4 ท่า อาวุธยิงไกลอีก 4 ท่า ซึ่งตรงนี้เราก็สับเปลี่ยนเอาท่าใส่เข้าใส่ออกได้ตลอด เป็นอีกจุดที่ทำให้ระบบการต่อสู้มีทางเลือกหลากหลายขึ้น
บางครั้งการโจมตีค่ายในโหมด Raid ที่เรายกพวกตะลุมบอนซึ่งเพิ่งมีในภาคนี้ ถ้ามีความสามารถสนับสนุนดี ๆ ก็ทำให้สงครามมีมิติมากกว่าเอากำลังเข้าวัดอย่างเดียวด้วย และความสำคัญของโหมดยกพลนี้ก็ได้ฟีลไวกิ้งดีมาก ส่วนตัวดูมันกว่าสงครามทางน้ำในภาคเก่า และผู้พัฒนาเองก็ยังทำให้การยกพลคุ้มค่าขึ้นด้วยการเป็นโหมดเดียวที่เก็บทรัพยากรในการอัปเกรดค่ายของเราได้ ดังนั้นการบริหารจัดการการพัฒนาทั้งตัวเราทั้งค่ายจึงต้องผ่านการคิดมากขึ้นด้วย
มาถึงจุดเกี่ยวกับการเล่นที่รู้สึกว่าแอบเป็นอุปสรรคแน่นอนคือ ภาษา ปกติเกมแนวนี้เราต้องฟัง/อ่าน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตอบ/แก้ปัญหาบ้างอยู่แล้ว แต่หลายครั้งเราอาจกดข้าม ๆ บทสนทนาไป แล้วไปอ่านในสรุปสิ่งที่ต้องทำในการแก้ภารกิจในหน้าเมนูที่หลังได้ แต่กับ Valhalla นั้น บางภารกิจตัวละคร NPC พูดครั้งเดียวจบและในเกมจะไม่มีขึ้นบอกอีกต่อไปแล้วว่าภารกิจนี้ให้ทำอะไรต่อ ใครไม่ถนัดภาษาหรือขี้เกียจฟัง/อ่านบอกเลยนรกแน่ ๆ
บางภารกิจมันไม่สำคัญก็พอถอดใจ แต่ในภารกิจเนื้อเรื่องรองที่ลากยาว ๆ มา แล้วจุดเปลี่ยนอยู่ที่การตอบคำถามไม่กี่คำของเรา อันนี้ล่ะนรกของจริง เพราะในครั้งนี้การตัดสินใจระหว่างทางของเรามีผลกับบทสรุปในแต่ละช่วงด้วย เราอาจดึงคนมาเป็นพรรคพวกไม่ได้ หรือเราอาจไปเผลอตอบรับคำเชิญร่วมรักกับเพศเดียวกันได้แบบไม่รู้เรื่องเลยล่ะ ตรงนี้ก็เสียดายมาก ๆ ว่าทำไมเขาไม่ยอมทำภาษาไทยใส่เข้ามา (แต่ก็ยังแอบหวังล่ะนะว่าอาจมีในอนาคต เพราะแพตช์ 1.0.2 ก็เพิ่มแพ็กภาษาใด ๆ มาเพิ่มเหมือนกัน)
สรุปในส่วนของเกมเพลย์มันอาจจะคล้าย ๆ เดิม แต่ดูไปเล่นไปจะรู้ว่ามันต่างกันพอสมควร แถมบางอย่างก็ละเอียดกว่าเดิมด้วย เสน่ห์ของการค่อย ๆ เรียนรู้ระบบไปพร้อมกับเนื้อหาอาจเป็นสิ่งที่ดีมากกว่าก็ได้ เพราะที่เล่นมายอมรับว่าระบบสอนในเกมเนียนดีกับเนื้อเรื่อง และเป็นขั้นเป็นตอนให้ค่อย ๆ พัฒนาตามลำดับที่ดีเลยเชียว
Graphic
ด้วยตัวเกมยังคงเป็นการใช้เกมอินจิ้นของตนเองอย่าง AnvilNext 2.0 ที่เคยนำมาใช้ตั้งแต่ Assassin’s Creed: Unity เรื่อยมาจนถึง Assassin’s Creed: Odyssey ล่าสุด ทำให้ว่ากันแบบไม่อวย ก็แทบไม่รู้สึกความต่างในแง่กราฟิกนัก ซึ่งหลายคนก็คงผิดหวังไปตั้งแต่ตอนเห็น Odyssey ออกมาแทบไม่ต่างจาก Origins และพอตัวอย่างเกม Valhalla ออกมา ก็แทบจะไม่รู้สึกอะไรกับกราฟิกเป็นพิเศษ แถมขาดความว้าวในแง่เกมข้ามเจนไปอีกต่างหาก (พูดในแง่ดีคือรักษามาตรฐานความสวยแบบไม่เพิ่มสเปกรุนแรงมาได้)
ส่วนความรู้สึกผิดหวัง ก็คือพอเริ่มเล่นฉากเปิดตัวในงานเลี้ยงเต้นรำ ก็แทบจะสิ้นศรัทธาในโมเดลตัวละครต่าง ๆ ที่ปั้นหน้ามาแบบไร้อารมณ์โคตร ๆ คือเข้าใจล่ะว่ามันตัวประกอบไม่ต้องเน้นมากนัก แต่ทว่าความประทับใจแรกเริ่มมันก็เสียไปไม่คืนกลับจริง ๆ ล่ะนะ ยิ่งระหว่างทางเจอหน้าตัวละครตาขาว หน้าลอย ๆ หน้าไร้อารมณ์มานี่ ตกใจนึกว่าเล่นเกมผีหมู่บ้านประหลาดอยู่หรือเปล่านะ มาพอใจชื้นบ้างตอนที่เริ่มมีโคลสอัปหน้าตัวละคร มีการเลือกบทสนทนาที่มีการเล่นหน้าเล่นตา สื่ออารมณ์ต่าง ๆ ก็ค่อยรู้สึกว่าสมกับเป็นเกม AAA เสียหน่อย
ความรู้สึกแปลกตาที่พอยกเป็นข้อดีได้ ก็ต้องชื่นชมการกำหนดฉากหลังในเรื่องมาเป็นถิ่นอิงแลนด์แทนนี่เอง ที่ให้ความแตกต่างชัดจากทะเลทราย กับเมดิเตอเรเนียน แบบสุดกู่ และยังพอให้ตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจกับภูมิทัศน์ภูเขาหิมะสูงชัน คลองธรรมชาติที่ตัดแบ่งดินแดนเป็นสัดเป็นส่วน และการผสมผสานความห่างไกลแร้นแค้น มาสู่ ทะเล คู คลอง ป่าไม้ต่าง ๆ ได้สนุกมือ ซึ่งตรงนี้น่าจะตรงตามพาดหัวสุดว่า จริงแล้วอะไรมันก็คือของเดิม ๆ นั่นล่ะ แต่เขาใช้ครีเอทีฟกับวิธีคิดเข้าช่วยให้มันดูแตกต่าง น่าสนใจขึ้นมาได้
Performance
สำหรับประสิทธิภาพของเกม ต้องบอกว่าใครเล่น 2 ภาคก่อนหน้ามาได้ก็น่าจะพอเล่นลื่น ๆ ได้ต่อเพราะเครื่องมือการสร้างเกมมันก็คือเดิม ๆ เลย โดยการทดสอบเบนช์มาร์กของตัวเกมก็พบว่าแทบไม่ต่างจากการทดสอบบนเกม Odyssey แต่อย่างใด แต่ในการยืนระยะเล่นยาว ๆ ก็พบกว่าด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับกลาง ๆ เกมก็ยังเล่นในระดับ 60 fps กว่า ๆ ได้สบาย ๆ ไม่พบการกระตุกหน่วงระหว่างเล่นนัก รักษาเฟรมไทม์อยู่ได้ที่ราว 19 ms ได้ตลอด ก็ถือว่าไม่ได้แย่ แต่ที่เจอบ้างและน่าหงุดหงิดก็มีอาการเกมเด้ง หรือแครชค้างอยู่บางครั้งแบบไม่ได้มีสาเหตุที่พึงเป็น
โดยทั้งนี้ได้ทดสอบการเล่นช่วงแรกผ่านแพตช์ 1.0.1 ของเกมที่อัปมาในการเปิดให้เล่นเลย (ขณะนั้น) พบว่าเจออาการเกมเด้งแบบหลุดออกหน้าจอเดสก์ท็อปเลย 2 ครั้งถ้วน หลังจากนั้นเมื่อเกมทำการอัปแพตช์ 1.0.2 เข้ามาโดยมีการระบุว่าปรับแก้บั๊กหลาย ๆ อย่างเพิ่มระบบบางอย่าง และปรับสมดุลเกมใหม่ สิ่งที่เจอคือเกมไม่เด้งออกแล้ว แต่ยังเจออาการค้างของเกมที่ต้องบังคับปิดเกมเข้าใหม่อยู่ดี ยังดีว่าเกมมีการซิงก์เซฟล่าสุดเข้าคลาวด์ได้แม้เกมจะถูกบังคับปิดลง ทำให้ไม่สูญเสียความคืบหน้าในเกมที่เล่นไป ก็ถือว่ายังพอให้ชื่นใจบ้าง เชื่อว่าหลังจากเปิดให้เล่นทางการแล้วแพตช์ใหม่ที่ออกน่าจะช่วยปรับปรุงเกมให้ดีขึ้นไปอีก
บั๊กเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่กระทบการเล่นยังพอเห็นบ้าง แต่ก็ถือว่าค่อนข้างน้อยแล้วสำหรับเกมเปิดตัววันแรก
ในส่วนสเปกก็ยังมีข้อดีตรงที่เกมร้องขอสเปกขั้นต่ำจนถึงสเปกแนะนำอยู่ในระดับที่ไม่โอเวอร์มากนัก แม้จะเป็นเกมที่ข้ามเจนไปยัง PS5 ด้วย โดยบนพีซีตัวการ์ดจอขั้นต่ำก็อยู่เพียงแค่แรม 4GB อย่าง GTX960 หรือ R9 380 เท่านั้น (เทียบกับขั้นต่ำใน Odyssey เมื่อ 2 ปีก่อนที่ขอ 2 GB อย่าง GTX660 กับ R9 285) ก็ถือว่าไม่ได้น่าหนักใจขนาดนั้น แถมเกมยังรองรับเครื่องที่แรง ๆ ก็ดันได้ทั้ง 60 fps (ที่ 2K) หรือสเกล 4K (ที่ 30 fps) โดยใช้การ์ดจอขั้นแนะนำที่ระดับ GTX2080 ก็ถือว่าได้ตามมาตรฐานตามเกม AAA ยุคปัจจุบัน
น่าสนใจอีกว่าถ้านำไปเล่นกับการ์ดรุ่นล่าสุดที่กำลังวางตลาดอย่างตระกูล GTX3000 ซีรีส์ หรือ RX 6000 ซีรีส์ จะทำได้ดีสวยงามในขนาดไหนด้วย แต่แว้ว ๆ มาว่า GTX3090 ยังแตะระดับ 4K 60fps ไม่อยู่ เอากับเขาสิ assassin’s creed valhalla